เภสัชกรดีเด่นปี2548

เภสัชกรดีเด่น



เภสัชกรโรงพยาบาลดีเด่นด้านบริการเภสัชสนเทศประจำปี พ.ศ. 2548 ได้แก่ เภสัชกรหญิงจันทิมา โยธาพิทักษ์:



เภสัชกรหญิงจันทิมา โยธาพิทักษ์ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปีพ.ศ.2532 และเภสัชศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ในปีพ.ศ.2544 ได้เริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างปี พ.ศ.2532-2534 แล้วย้ายมาเป็นเภสัชกร กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี รับผิดชอบงานบริหารเวชภัณฑ์จนถึงปีพ.ศ.2536 หลังจากนั้นได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านยาและพิษวิทยา จนถึงปัจจุบัน



จากการเริ่มงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรมโรงพยาบาลชุมชนตั้งแต่ต้น ทำให้เภสัชกรหญิงจันทิมาได้เรียนรู้และมีโอกาสทำงานประสานกับบุคลากรระดับต่างๆ ตั้งแต่ยังเป็นหน่วยงานเล็ก และด้วยความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับวิชาชีพอื่นในโรงพยาบาล ประกอบกับนิสัยการทำงานอย่างตั้งใจ ทุ่มเททั้งกำลังกายกำลังใจและเวลา ดังนั้น เมื่อได้รับมอบหมายให้เริ่มงานบริการข้อมูลข่าวสารด้านยา กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จึงสามารถพัฒนางานให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีความพยายามในการจัดหาและพัฒนาแหล่งข้อมูลเป็นจำนวนมากทำให้การสืบค้นข้อมูลมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังให้บริการด้วยความเต็มใจกับบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ ในโรงพยาบาลและประชาชนทั่วไป ในที่สุด เมื่อได้รับการจัดตั้งให้เป็นศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านยาและพิษวิทยา จึงมีผลงานเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาชีพอย่างกว้างขวาง สามารถทำประโยชน์ในการสนับสนุนงานรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้ทั่วประเทศ



นอกจากการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลแล้ว เภสัชกรหญิงจันทิมา ยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรและอาจารย์พิเศษ นำเสนอประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้อันเป็นประโยชน์ให้กับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ และงานวิชาชีพด้วย รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มในการนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้เพื่อการสืบค้นหาปัญหาและปรับปรุงแก้ไข ทำให้มีการพัฒนาการทำงานอยู่เสมอ



เภสัชกรหญิงจันทิมา เป็นผู้มีนิสัยใฝ่ศึกษาหาความรู้เพื่อการพัฒนาการทำงานอย่างไม่หยุดยั้ง และด้วยคุณสมบัติที่ดีในการปฏิบัติงานอย่างตั้งใจ ทุ่มเท และบริการด้วยความเต็มใจ จึงถือเป็นแบบอย่างที่ดีของเภสัชกรโรงพยาบาล ในการเป็นที่พึ่งของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปด้านแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับยา ช่วยสนับสนุนให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ และทำให้บทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมมีความโดดเด่น เป็นที่ยอมรับกว้างขวางทั่วไป ไม่เฉพาะภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น รวมทั้งยังมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพตีพิมพ์เผยแพร่เป็นจำนวนมากอีกด้วย



จากผลงานดีเด่นดังกล่าว สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล(ประเทศไทย) ในคราวประชุมครั้งที่ 12 วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2548 จึงมีมติให้ เภสัชกรหญิงจันทิมา โยธาพิทักษ์ เข้ารับมอบรางวัลเภสัชกรโรงพยาบาลดีเด่น ด้านบริการเภสัชสนเทศ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป



เภสัชกรโรงพยาบาลดีเด่นด้านเภสัชกรรมชุมชนประจำปี พ.ศ. 2548 ได้แก่ เภสัชกรหญิงณัฐธิรส ศรีบุญเรือง:


เภสัชกรหญิงณัฐธิรส ศรีบุญเรือง จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปีพ.ศ.2534 และสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปีพ.ศ.2541 ชีวิตการทำงานเริ่มจากตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู ระหว่างพ.ศ. 2534-2536 และย้ายไปรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 จนถึงปัจจุบัน ควบคู่กับตำแหน่งผู้จัดการศูนย์พัฒนาคุณภาพ



เนื่องจากนายแพทย์ไกร ดาบธรรม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่อาย มีแนวคิดในการพัฒนาชุมชนและเข้าใจกระบวนการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการสร้างองค์กรให้มีการทำงานเป็นทีมและมีความรู้สึกร่วมกันว่าความสำเร็จในการพัฒนาเป็นผลงานของทุกคน เภสัชกรหญิงณัฐธิรส นับเป็นกำลังสำคัญในกระบวนการพัฒนาดังกล่าว ครอบคลุมทั้งการพัฒนางานบริการเภสัชกรรม การกระตุ้น ผลักดัน บุคลากรในโรงพยาบาล ให้มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง พัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนของผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพ และส่งเสริมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งการพัฒนางานแพทย์แผนไทยและสมุนไพร งานสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาแก่ประชาชน ผ่านสื่อวิทยุชุมชนมะลิกา และการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล ทำให้มีระบบสารสนเทศที่ดี ทันสมัย สามารถประมวลข้อมูลต่างๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพทั้งงานบริหารและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้โรงพยาบาลแม่อายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถประสานระบบคุณภาพต่างๆเข้าด้วยกัน บรรลุเป้าหมายในการเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ ที่มีมาตรฐาน สร้างความไว้วางใจ และประทับใจแก่ประชาชนทุกระดับ



ด้วยความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และด้วยจิตใจในการมุ่งพัฒนา การเรียนรู้ของบุคลากรทุกระดับ รวมทั้งการพัฒนาชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เภสัชกรหญิงณัฐธิรส จึงถือเป็นแบบอย่างที่ดีของเภสัชกรชุมชน ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และยอมรับของบุคลากรต่างวิชาชีพรวมทั้งประชาชน ทั้งภายในองค์กรและในระดับชุมชน จนได้รับคัดเลือกให้เป็นข้าราชการที่มีผลงานดีเด่นจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ประจำปี2547 เป็นที่ปรึกษากระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล และเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลและการพัฒนาคุณภาพงานเภสัชกรรม ทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศด้วย



จากผลงานดีเด่นดังกล่าว สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ในคราวประชุมครั้งที่ 12 วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2548 จึงมีมติให้ เภสัชกรหญิงณัฐธิรส ศรีบุญเรือง เข้ารับมอบรางวัลเภสัชกรโรงพยาบาลดีเด่น ด้านเภสัชกรรมชุมชน เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป



เภสัชกรโรงพยาบาลดีเด่นด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมประจำปี พ.ศ. 2548 ได้แก่ เภสัชกรหญิงอัมพร จันทรอาภรณ์กุล:



เภสัชกรหญิงอัมพร จันทรอาภรณ์กุล จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปีพ.ศ.2543 และเข้าปฏิบัติงานในฝ่ายเภสัชกรรมโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่จบการศึกษาจนถึงปัจจุบัน หลังจากปฏิบัติงานบริการจ่ายยาได้ประมาณ 1 ปีเศษ ภญ.อัมพรได้รับมอบหมายจากฝ่ายเภสัชกรรมให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการให้คำปรึกษาแนะนำด้านยาสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาวาร์ฟาริน (Drug Counselling Program for Warfarin Therapy) โดยจัดเป็นโครงการร่วมระหว่างสหสาขาวิชาชีพประกอบไปด้วยแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่เวชนิทัศน์ ในช่วงแรกที่เริ่มงาน บทบาทหลักคือการให้ความรู้ผู้ป่วย โดยทำให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงเหตุผลของการใช้ยา วิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง ความสำคัญของการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง การมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ การเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขอาการข้างเคียงเบื้องต้นและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในระหว่างที่ใช้ยาวาร์ฟาริน โดยวิธีการประเมินผลในช่วงแรกนี้คือ การทำแบบทดสอบก่อนและหลังการให้ความรู้ผู้ป่วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งและได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในงานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลในปี 2545



จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน งาน warfarin clinic ที่โรงพยาบาลศิริราชได้พัฒนาขึ้นอย่างน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง โดยบทบาทในปัจจุบันได้ขยายมาเป็นการให้บริบาลทางเภสัชกรรมที่เต็มรูปแบบและได้มาตรฐานสากลเท่าเทียมกับต่างประเทศ นอกเหนือจากการให้บริการพื้นฐานเกี่ยวกับการให้ความรู้ผู้ป่วยข้างต้นแล้ว ภญ.อัมพรและคณะยังได้มีบทบาทในการค้นหาและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากการใช้ยาแก่แพทย์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของแพทย์เป็นอย่างดี จากการประเมินผลลัพธ์ทางคลินิกล่าสุดในปี 2547 พบว่า warfarin clinic นี้ ช่วยทำให้การรักษาบรรลุเป้าหมายมากขึ้น มีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการเกิดก้อนเลือดอุดตันและภาวะเลือดออกน้อย ลงกว่าในอดีต อีกทั้งยังสามารถช่วยค้นหาและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการใช้ยาอื่นๆ เช่น ปฏิกิริยาระหว่างยา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับได้ว่าภญ.อัมพรและคณะได้ทำประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการอย่างน่ายกย่อง และยังทำให้บทบาทของเภสัชกรเป็นที่ยอมรับของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ อีกด้วย



นอกเหนือจากการให้บริการผู้ป่วยแล้ว ภญ.อัมพรและคณะยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวิชาชีพโดยรับเป็นแหล่งฝึกให้แก่นักศึกษาเภสัชศาสตร์แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง และยังเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานสำหรับเภสัชกรโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ Anticoagulation Traineeship ภายใต้การดูแลของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลอีกด้วย ผลจากการส่งเสริมวิชาชีพดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมี warfarin clinic หลายแห่งถือกำเนิดขึ้นโดยมี warfarin clinic ของโรงพยาบาลศิริราชเป็นต้นแบบ ทำให้ผู้ป่วยไทยอีกจำนวนมากได้รับประโยชน์จากยาอย่างเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย



สิ่งที่น่ายกย่องเกี่ยวกับภญ.อัมพรคือ การค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง การทำงานโดยยึดถือเอาประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ความเสียสละและทุ่มเทให้กับงาน และการมีความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาโดยการก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา



ภญ.อัมพรได้พัฒนาตนเองจากผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับยาวาร์ฟารินที่จำกัดมากและไม่แตกต่างจากเภสัชกรที่จบใหม่คนอื่นๆ มาเป็นผู้ที่มีความรู้และความชำนาญในระดับที่เท่าเทียมกับผู้ที่ได้รับการศึกษาในระดับสูงจากต่างประเทศในระยะเวลาเพียง 2-3 ปี โดยเป็นการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองเป็นหลัก สิ่งนี้ถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า เภสัชกรธรรมดาคนหนึ่ง หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจเพียงพอ ก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง จนถึงระดับที่สามารถทำประโยชน์ให้กับผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่และเป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ สมควรเป็นแบบอย่างของเภสัชกรอื่นๆ ที่สนใจทำงานเภสัชกรรมคลินิกได้



การที่ภญ.อัมพรได้พัฒนางานจากการให้ความรู้ผู้ป่วยมาเป็นการให้บริบาลทางเภสัชกรรมอย่างเต็มรูปได้ต้องอาศัยทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและความคิดริเริ่มในการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดริเริ่มของภญ.อัมพร ได้แก่ การจัดทำอุปกรณ์และสื่อที่ใช้ประกอบการให้ความรู้ผู้ป่วย และเทคนิคการให้คำแนะนำผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีระดับการศึกษาในระดับใด รวมถึงการพัฒนาการประเมินผล จากการทำแบบสอบถามบนกระดาษ จนปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือ เพื่อใช้ประเมินข้อมูลทางคลินิกที่สำคัญอื่นๆ นอกจากนี้ ภญ.อัมพรยังได้นำข้อมูลและแบบฟอร์มต่างๆที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนาไว้แล้วเหล่านี้ใส่ไว้ในเว็บไซต์ของฝ่ายเภสัชกรรม ซึ่งเผยแพร่ไปยังเภสัชกรและผู้สนใจอื่นๆ ให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อไปอีกด้วย



ด้วยผลงานดีเด่นดังกล่าว สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ในคราวประชุมครั้งที่ 12 วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2548 จึงมีมติให้ เภสัชกรหญิงอัมพร จันทรอาภรณ์กุล เข้ารับมอบรางวัลเภสัชกรโรงพยาบาลดีเด่น ด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป



เภสัชกรโรงพยาบาลดีเด่นด้านบริหารงานเภสัชกรรมประจำปี พ.ศ. 2548 ได้แก่ เภสัชกรอำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ:




เภสัชกรอำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีพ.ศ.2523 และสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีพ.ศ.2534 รวมทั้งได้รับปริญญาบัตรและวุฒิบัตรอื่น ๆ เริ่มปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างปีพ.ศ. 2523-2528 แล้วย้ายมารับตำแหน่งหัวหน้างานคลังเภสัชภัณฑ์ หัวหน้างานผลิตยา และรองหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสมุทรสาคร ตามลำดับ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2528-2539 และได้รับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสมุทรสาคร ในปีพ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน



จากความตั้งใจและมุ่งมั่นในวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาล เมื่อย้ายมาปฏิบัติงานในกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสมุทรสาคร เภสัชกรอำนวยได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ และนำมาพัฒนางานด้านต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นกำลังสำคัญของเภสัชกรโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ทำคุณประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยเข้าร่วมเป็นกรรมการในการพัฒนางานเภสัชกรรมโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ทั้งงานบริหารคลังเวชภัณฑ์ งานบริการเภสัชกรรม และงานผลิต โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบสารสนเทศ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สนับสนุนการปฏิบัติงานเภสัชกรรมด้วย และเมื่อโรงพยาบาลสมุทรสาครสมัครเข้าร่วมกระบวนการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation) ทำให้มีโอกาสในการพัฒนาบทบาททางวิชาชีพเริ่มมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร และบุคคลในสายวิชาชีพอื่น



ด้วยความรู้และประสบการณ์การปฏิบัติงานหลายหน้าที่ในกลุ่มงานเภสัชกรรม เมื่อได้รับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน เภสัชกรอำนวยจึงบริหารจัดการด้วยความเข้าใจและไม่ย่อท้อต่อปัญหาหรืออุปสรรค ทำให้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเภสัชกรในทีมนำของกลุ่มงาน มีการปรับปรุงพัฒนางานอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการส่งเสริมและกระตุ้นให้ทุกคนในทีมนำมีส่วนร่วมในการแสดงศักยภาพ ร่วมเสนอความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และทำงานด้วยความสามัคคี ทำให้บทบาททางวิชาชีพเป็นที่ยอมรับของวิชาชีพอื่นๆ และเกิดแนวคิดในการพัฒนางานด้วยรูปแบบเชิงรุก เช่น งานบริการเภสัชกรรมจ่ายยาผู้ป่วยนอกเชิงรุก เป็นต้น นับเป็นแบบอย่างที่ดีของหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์และยอมรับทั้งในแวดวงวิชาชีพและในสังคม จากการได้รับคัดเลือกให้เป็นเภสัชกรดีเด่นจากชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาล ทั่วไป ในปี 2534 และได้รับเข็มบุรฉัตรจากกรมทหารสื่อสารที่ 1 ในการเป็นผู้บำเพ็ญคุณความดี และมีเกียรติ ในปี 2545 นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้าที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้วย โดยการสนับสนุนให้เภสัชกรในกลุ่มงานได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านเภสัชกรรมคลินิก เพื่อพัฒนางานบริบาลเภสัชกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นับเป็นผู้บริหารงานเภสัชกรรมที่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในภาพรวม



จากผลงานดีเด่นดังกล่าว สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ในคราวประชุมครั้งที่ 12 วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2548 จึงมีมติให้ เภสัชกรอำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ เข้ารับมอบรางวัลเภสัชกรโรงพยาบาลดีเด่น ด้านบริหารงานเภสัชกรรม เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น