คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเรียนเภสัชกร

สำหรับคนที่อยากเรียนเภสัช

ไขข้อข้องขัดก่อนตัดสินใจเรียนเภสัชฯ เรียนเภสัชดีไหม? การตัดสินใจเลือกเรียนคณะใด หรือสาขาใดนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการพิจารณาจากข้อมูล และความรู้สึกของตนเอง ว่าในขณะนี้ตนกำลังอยู่ในสถานการณ์ใด เราต้องนำข้อมูล และความรู้สึกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงมาช่วยในการพิจารณา บางครั้งการมีความฝันเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถที่จะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้ หรือการมีคะแนะที่สูงเพียงอย่างเดียวก็เช่นกัน เราต้องมีทั้งความชอบ ความรัก และความจริง ความจริงในที่นี้ก็คือ คะแนนของเราเอง และสถานการณ์ต่างๆ ที่มีส่วนในการเอื้ออำนวย เช่น สถาบันที่จะศึกษาตั้งอยู่ที่ใด ครอบครัว งบประมาณ ดังนั้นจะทำให้เราเห็นได้ว่า การตัดสินในครั้งนี้เราต้องมีการรวบรวมข้อมูลจากทั้งในตัวเราเอง และแวดล้อมมาวางแผนให้อย่างรอบคอบและถ้วนถี่ เพื่อให้อนาคตของเรามั่นคง เป็นไปตามแผนที่เรามุ่งหวัง และมีประสิทธิภาพ คณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย มีทั้งหมด 12 แห่ง โดยแบ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 10 แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน 2 แห่ง มีการเรียนการสอน 2 หลักสูตร คือหลักสูตร 5 ปี และ 6 ปี (ศึกษาข้อมูลเพิ่มจากรายละเอียดของแต่ละสถาบัน) ซึ่งทุกสถาบันอยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และสภาเภสัชกรรม สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อเภสัชศาสตร์ ต้องมีการวางแผนให้รอบคอบอย่างถ้วนถี่ ต้องมีการติดตามข่าวสาร และข้อมูลจากสถาบันการศึกษา เภสัชศาสตร์ 12 แห่ง อยู่ตลอด เนื่องจากในแต่ละปีการเปิดรับนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์อยู่ในจำนวนจำกัด และมีเวลาเปิดรับสมัครจำกัด แม้ว่าจะมีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเอกชนรองรับอยู่ถึง 2 แห่ง แต่ในปัจจุบันความต้องการที่จะศึกษาต่อในศาสตร์นี้ค่อนข้างสูง จึงทำให้คณะเภสัชศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเอกชนทั้ง 2 แห่งนี้ ก็มีการแข่งขันในอัตราที่สูงเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่ต้องการจะศึกษาต่อเภสัชศาสตร์จึงต้องมีการวางแผนที่ดีและรอบคอบถ้วนถี่ แต่อย่างไรเราก็ต้องถามตัวเราเองเสียก่อนว่าเราจะชอบ รัก มุ่งมั่น อดทน และขยันที่จะเรียนเภสัชศาสตร์จริงหรือไม่ เพียงไร เรียนเภสัชอย่างไร? การศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ในประเทศไทยปัจจุบัน มีอยู่ 2 หลักสูตรใหญ่ๆ คือ หลักสูตร 5 ปี และ 6 ปี โดยมีการเรียนการสอนแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรกเป็นการเรียนวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาอื่นๆ ช่วงที่สองเป็นการเรียนทางด้านเภสัชสาสตร์ในแขนงต่างๆ การเรียนได้แบ่งเป็นสองส่วนคือภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยในช่วงการเตรียมพื้นฐานนั้น เป็นช่วงของการปรับตัว เนื้อหาและรายวิชาจะเป็นความต่อเนื่องมาจากระดับมัธยมศึกษา อาทิ วิชาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น ก็ล้วนนำเนื้อหาจากระดับมัธยมศึกษามาเรียนในขั้นที่สูงขึ้น ดังนั้นคนที่มีพื้นฐานจากการเรียนในระดับมัธยมที่ดี ก็จะได้เปรียบ แต่ก็อย่าชะล่าใจ เพราะอาจจะพลาดได้เช่นกัน ช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่เรียนวิชาทางเภสัชศาสตร์ในแขนงต่างๆ ก็จะต้องนำความรู้จากภาคเตรียมมาใช้ โดยต้องนำมาประยุกต์ในวิชาต่างๆ แม้แต่วิชาคณิตศาสตร์ หรือฟิสิกส์ที่ดูแล้วไม่น่าเกี่ยวข้องอะไรเลยกับวิชาทางเภสัชศาสตร์ แต่ในความจริงแล้วความรู้ทุกอย่างต้องนำมาใช้ในการเรียนเภสัชสาสตร์ทั้งหมด เช่น การเตรียมยาใน 1 ตำรับ ต้องอาศัยความรู้นอกจากทางด้านเคมีแล้ว ต้องมีหลักของฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ รวมถึงศาสตร์อื่นๆ มาใช้ในการเตรียมตำรับนั้นๆ เพราะเภสัชศาสตร์เป็นการเรียนที่ต้องอิงข้อมูลจากสรรพศาสตร์ โดยนำความรู้มาใช้อย่างบูรณาการ ใครจะไปคิดว่าเราต้องมีความรู้ถึงลักษณะของใบพืช การปลูกต้นไม้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การทำบัญชี การบริหารงานองค์กร กฎหมาย หรือแม้แต่การซ่อมบำรุง และในขณะที่ศึกษานอกจากการเรียนในห้องเรียน และห้องปฏิบัติการแล้ว ผู้ศึกษาต้องผ่านการฝึกปฏิบัติงานในองค์กร หน่วยงาน หรือสถานประกอบการต่างๆ ทางด้านเภสัชกรรม อาทิ โรงพยาบาล ร้านยา โรงงานอุตสาหกรรมยา บริษัทยา เป็นต้น ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าการเรียนเภสัชศาสตร์ต้องอาศัยการสะสมความรู้จากหลากหลายสาขามาใช้ เพราะเภสัชกรไม่ใช่เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องการใช้ยาเท่านั้น หากแต่เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องยามากที่สุด และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ทุกคนต้องผ่านการสอบขึ้นทะเบียนใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทุกคน ทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ จึงจะเป็นเภสัชกรได้อย่างสมบูรณ์ทางกฎหมาย และระเบียบของสภาเภสัชกรรม คนเรียนเก่ง กับคนขยัน ใครจะประสบความสำเร็จในการเรียนเภสัชศาสตร์? คำถามนี้อาจจะตอบยากเสียหน่อย แต่ถ้าต้องการชี้ชัดก็คงต้องตอบว่าคนขยัน และอดทน แต่ที่สำคัญต้องเป็นคนมีเพื่อนด้วย เพราะเนื้อหาในการเรียนค่อนข้างเยอะ งานที่ได้รับมอบหมายก็มาก ดังนั้นการเรียนที่ดีในศาสตร์นี้ ต้องช่วยการเรียน การช่วยในครั้งนี้ต้องช่วยให้ถูกต้อง คือช่วยกันค้นข้อมูล ช่วยย่อจับใจความสำคัญ ประเด็นหรือหลักที่ควรจำ ซึ่งการช่วยกันเรียนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะช่วยร่นเวลาในการเรียน คือการอ่านหนังสือ การค้นคว้าให้สั้นลง อีกทั้งบางครั้งก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เรามีสติ และขยันเรียนอย่างมีกำลังใจตลอด ภาษาอังกฤษสำคัญไหม? สำคัญ แต่ไม่ต้องตกใจสำหรับใครที่เป็นคู่ขนานกับภาษาอังกฤษ คือเข้ากันไม่ได้ ไม่เข้าใจเสียที วิธีการคือ ฝึกการเปิดหนังสือภาษาอังกฤษบ่อยๆ อีกทั้งศัพท์ที่เราจะต้องเจอกันอย่างประจำทุกวันก็จะช่วยให้เราอ่านภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น ซึ่งการค้นคว้าข้อมูลส่วนใหญ่ต้องค้นมาจากตำราภาษาอังกฤษ อาทิ การตั้งตำรับยาเตรียม ต้องเปิดดูหนังสือ เช่น USP, BP เป็นต้น เพื่อนำมาอ้างอิงและใช้ในการตั้งตำรับ หรือแม้กระทั่งการเปิดดูรายละเอียดของยาต่างๆ จาก Drug information และ Mims เป็นต้น ไม่เก่งเคมีแล้วเรียนเภสัชฯได้ไหม? ได้ แต่ค่อนข้างต้องขยันให้มากๆ กว่าคนอื่น ถ้าไม่เข้าใจต้องรีบถาม เหมือนกับการเรียนวิชาอื่นๆ เพียงแต่เราจะต้องเจอเคมีอยู่ตลอด ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจในพื้นฐานของเคมีในด้านต่างๆ และวิชาอื่นๆ ก็เช่นกัน มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันแม้แต่คำนวณ เรียนเภสัชฯต้องเก่งท่องจำ หรือเข้าใจมากกว่ากัน? ทั้งสองอย่าง เพราะต้องเรียนอย่างท่องจำที่เข้าใจ เนื่องจากเนื้อหาค่อนข้างเยอะ หากใช้วิธีจำอย่างเดียว ก็ไม่สามารถจำได้หมด หรือใช้การเข้าใจอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะมันต้องมีสิ่งที่ต้องท่องจำ ดังนั้นเราจึงต้องเรียนอย่างที่เรียกว่า “จำอย่างเข้าใจ” เรียนเภสัชจบแล้วไปไหน? เป็นหนึ่งในคำถามที่หลายคนต้องการรู้ ซึ่งภาพแรกที่ทุกคนนึกถึง ก็คือการเภสัชฯขายยาในร้านยา หรือเภสัชกรในโรงพยาบาล แต่ความจริงผู้ที่สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตร์สามารถประกอบวิชาชีพ และอาชีพต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 1. เภสัชกร - เภสัชกรชุมชน (ร้านยา) - เภสัชกรโรงพยาบาล - เภสัชกรโรงงานอุตสหากรรมยา - ผู้แทนยา ฯลฯ 2. อาชีพอื่นๆ - ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร สปา - ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสุขภาพ - นักวิเคราะห์ ฯลฯ อาชีพเภสัชกรเป็นอาชีพที่ค่อนข้างมีความมั่นคง และเป็นที่ต้องการของสังคมอยู่ตลอด มีความหลากลหายในการประกอบวิชาชีพ และอาชีพอย่างมาก เพราะจากการกล่าวในข้างต้นถึงการเรียนในศาสตร์นี้ จึงทำให้ทราบได้ว่า เภสัชกรเป็นมีความรู้พื้นฐานในด้านต่างๆ ค่อนข้างกว้าง สามารถไปเรียนต่อในด้านต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งสามารถนำความรู้มาใช้ในอาชีพอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ความรู้ทางด้านสมุนไพร กับธุรกิจ “สปา” เพื่อสุขภาพ เป็นต้น letterpk@hotmail.com

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ มีแรงที่จะอยากเป็นและมุ่งมั่นกว่าเดิมอีกขอบคุณค้าาาาาาาาาาาา

แสดงความคิดเห็น