คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะเภสัชศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาอังกฤษ Faculty of Pharmaceutical Sciences
Chulalongkorn university

วันจัดตั้ง 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456

คณบดี รศ.ภญ.ดร.พิณทิพย์ พงษ์เพ็ชร

วารสาร วารสารไทยเภสัชสาร
สีประจำคณะ ███ สีเขียวมะกอก
สัญลักษณ์คณะ งูศักดิ์สิทธิ์พันถ้วยยาไฮเกีย
สถานปฏิบัติการ โอสถศาลา




ที่อยู่
254 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะเภสัชศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย โดยถือกำเนิดจาก "โรงเรียนแพทย์ปรุงยา" ตามดำริของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทยอีกด้วย

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมเป็นแผนกปรุงยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับการพัฒนาหลักสูตรขึ้นเป็นแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ย้ายสังกัดหลายครั้ง ซึ่งภายหลังได้กลับมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้อาคารเภสัชศาสตร์ ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะศิลปกรรมศาสตร์) เป็นที่ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้ย้ายอาคารมาทำการเรียนการสอน ณ ที่ตั้งปัจจุบัน บริเวณสยามสแควร์ ติดกับคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์

ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยในระดับปริญญาตรีได้เปิดการเรียนการสอนใน 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ทั้ง 2 หลักสูตรใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 7 ภาควิชา และยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ-ชิบะ, โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต คณะเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น




ประวัติ

ด้านหน้าอาคารเภสัชศาสตร์การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ของไทยในแบบตะวันตก เริ่มต้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระดำริของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถซึ่งประทานแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัยในขณะนั้น ถึงเรื่องการตั้งโรงเรียนปรุงยาขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร จึงได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย" ด้วยพระดำริให้มีการศึกษาเภสัชศาสตร์อย่างเป็นระบบ จึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม โดยประกาศเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เรื่อง "ระเบียบการจัดนักเรียนแพทย์ผสมยา พ.ศ. 2457" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันก่อตั้งวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย และถือเป็นวันกำเนิดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์เริ่มต้นการสอนในโรงเรียนราชแพทยาลัยในแผนกปรุงยา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2457 เมื่อจบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ปรุงยา โดยมีนักเรียนจบการศึกษาในรุ่นแรก 4 คน ต่อมาได้มีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น กระะทรวงธรรมการจึงได้ประกาศให้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้ามาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์จึงได้ยกระดับขึ้นสู่ระดับอุดมศึกษา และได้มีพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477 กำหนดจัดตั้งแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ และเปลี่ยนวุฒิเป็น "ประกาศนียบัตรเภสัชกรรม (ป.ภ.)" เทียบเท่าอนุปริญญา โดยให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รักษาการตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งด้วย

การปรับปรุงการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ดำเนินอย่างสืบเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2479 ได้ยกระดับหลักสูตรเป็น "อนุปริญญาเภสัชศาสตร์" ใช้ระยะเวลาศึกษา 3 ปี เป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมเนื้อหาวิชาทางเภสัชศาสตร์อย่างกว้างขวาง และนำเอาวิชาทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาบรรจุในหลักสูตรดังกล่าวโดยเริ่มใช้ในปีการศึกษาต่อมา และมีการแบ่งแผนกวิชาต่างๆ ขึ้นตามกฎหมาย แม้กระนั้นการศึกษาเภสัชศาสตร์ก็ไม่ได้รับความสนใจต่อผู้เข้าการศึกษามากนัก จนกระทั่ง เภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2482[2] และได้จัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ขึ้นอย่างเต็มรูปแบบโดยยกระดับหลักสูตรเภสัชกรรมศาสตร์จนถึงระดับปริญญา (หลักสูตร 4 ปี) และจัดสร้างอาคารเรียนถาวรของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 (อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)

ต่อมาเมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2485 จึงได้โอนแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ใช้บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนกระทั่งวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 ได้มีพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล จึงย้ายกลับเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515

ในปี พ.ศ. 2525 คณะเภสัชศาสตร์ได้ย้ายอาคารเรียนไปยังบริเวณสยามสแควร์ ติดกับคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดโครงการเภสัชกรคู่สัญญาโดยใช้ทุนเป็นเวลา 2 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2527 โดยคณะเภสัชศาสตร์ยังคงปรับปรุงการศึกษาอย่างสืบเนื่องโดยในปี พ.ศ. 2532 ได้เปิดหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต 3 สาขา ในปีถัดมาได้ปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตเป็นลักษณะกึ่งเฉพาะทาง 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาเภสัชกรรมโรงพยาบาลและเภสัชกรรมคลินิก, สาขาเทคโนโลยีการผลิตยา, สาขาวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์, สาขาเภสัชกรรมชุมชนและบริหารเภสัชกิจ และสาขาเภสัชสาธารณสุข และมีการจัดสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการแห่งใหม่เพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาเภสัชศาสตร์ในสยามประเทศครบ 80 ปีโดยใช้ชื่อ "อาคาร 80 ปีเภสัชศาสตร์" ในปี พ.ศ. 2536


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาเสด็จเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สมุนไพร วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544นอกจากการพัฒนาด้านการเรียนการสอนและอาคารสถานที่นั้น คณะเภสัชศาสตร์ยังได้รวบรวมเภสัชภัณฑ์, เครื่องยา และเภสัชวัตถุโบราณซึ่งสั่งสมมาแต่ครั้งก่อตั้งคณะจัดสร้างเป็น "พิพิธภัณฑ์สมุนไพร" ขึ้น โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในการเปิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมกับเปิดอาคารโอสถศาลาในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2548 และได้มีการจัดตั้งสมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ให้มีความแน่นแฟ้น รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมคณะฯ พร้อมทั้งกิจกรรมวิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย

ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้หลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิตฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2552 โดยแบ่งเป็น 2 สาขา คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์ และหลักสูตรเภสัชศาสตบัณฑิต สาขาบริบาลทางเภสัชกรรม โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา 6 ปี มีการพัฒนาผลงานวิจัยทางเภสัชกรรมโดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร ณ อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งได้ทำพิธีเปิดเมื่อ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี และยังมีโครงการต่างๆ อาทิ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ "โอสถศาลา" ศูนย์คอมพิวเตอร์ทางเภสัชศาสตร์ ศูนย์เภสัชสารสนเทศ ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางเภสัชอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยและพัฒนาสมุนไพรและเครื่องเทศ รายการคลินิก FM 101.5 วิทยุจุฬาฯ ศูนย์ผลิตสื่อประสมคอมพิวเตอร์ ศูนย์สื่อสารการเรียนรู้ด้วยตนเอง ห้องสมุดและระบบคอมพิวเตอร์ทางเภสัชศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมให้ปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ตาม "ปรัชญาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม"

สัญลักษณ์ประจำคณะ
งูศักดิ์สิทธิ์พันถ้วยยาไฮเกีย เป็นสัญลักษณ์วิชาชีพเภสัชกรรมของกรีก โดยมีที่มาจากเทพีไฮเกีย เทพีแห่งสุขอนามัยและความสะอาด สัญลักษณ์ดังกล่าวได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพระเกี้ยวประดับเหนือถ้วย
กระถินณรงค์ ต้นไม้ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสถานที่ปลูกบริเวณป้ายคณะ
สีเขียวมะกอก เป็นสีประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นสีประจำคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ และยังเป็นสีประจำของวิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย
เพลงศักดิ์ศรีเภสัช เป็นเพลงประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเรียนการสอน
หลักสูตรการศึกษา
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนใน 3 ระดับการศึกษา คือ ระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยการเรียนการสอนในระดับปริญญาบัณฑิต (ปริญญาตรี) ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ระบบทวิภาคคือ แบ่งปีการศึกษาหนึ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา ได้แก่ ภาคการศึกษาต้นและภาคการศึกษาปลาย โดยแบ่งเป็น 2 สาขา อันประกอบด้วย สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรมและสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ทั้งสองสาขาใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี แบ่งเป็นการศึกษาวิชาการศึกษาทั่วไปและวิชาพื้นฐานวิชาชีพเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง และการศึกษาวิชาเฉพาะวิชาชีพเป็นเวลา 4 ปีครึ่ง ในสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมเป็นการเน้นด้านการดูแลผู้ป่วยในกระบวนการใช้ยา และในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์สามารถเลือกวิชาเฉพาะของสาขาใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาเภสัชกรรมและเทคโนโลยี, สาขาค้นพบและพัฒนายา และสาขาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร ซึ่งทั้งสองหลักสูตรได้รับการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและสภามหาวิทยาลัยแล้ว และต้องใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาเป็นเภสัชกรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะเวลา 2 ปี

นอกจากการจัดการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิตนั้น คณะเภสัชศาสตร์ยังได้จัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาโดยใช้ระยะเวลาศึกษาทั่วไป 2 ปี แบ่งเป็นหลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต, หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรดุษฎีบันฑิต ทั้งนี้ยังมีการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติในสาขาเทคโนโลยีเภสัชกรรม และสาขาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร

ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 6 ปี


สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม
สาขาวิชาเภสัชศาสตร์
หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี

สาขาวิชาเภสัชกรรม
สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก
สาขาวิชาเภสัชอุตสาหกรรม
สาขาวิชาเภสัชเคมี
สาขาวิชาอาหารเคมีและโภชนศาสตร์การแพทย์
สาขาวิชาเภสัชพฤกษศาสตร์
สาขาวิชาเภสัชเวท
สาขาวิชาจุลชีววิทยา
สาขาวิชาสรีรวิทยา
สาขาวิชาเภสัชวิทยา
สาขาชีวเวชเคมี
สาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม (นานาชาติ)
สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร (นานาชาติ)
หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี

สาขาวิชาเภสัชกรรม
สาขาวิชาการบริบาล
หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต

สาขาวิชาเภสัชเคมีและ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ชีวภาพ
สาขาวิชาชีวเวชเคมี
สาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม (นานาชาติ)
สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร (นานาชาติ)
สาขาวิชาเภสัชเวททางเภสัชกรรม (นานาชาติ)


การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเกณฑ์การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี) ทั้งสิ้น 4 โครงการ ดังต่อไปนี้

โครงการรับผ่านระบบแอดมิสชัน ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ช่วงชั้นที่ 4) ทั่วไปที่ผ่านการสอบในระบบแอดมิสชัน
โครงการรับตรงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้คะแนนสอบแอดมิสชันในการเลือกคณะได้ 4 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการพัฒนากีฬาชาติ ตามนโยบายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนานักกีฬาของชาติให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ โดยเปิดรับผ่านการสมัครโครงการพัฒนากีฬาชาติตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการจุฬาฯ ชนบท เปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่พักอาศัยในต่างจังหวัด โดยนิสิตในโครงการนี้จะได้รับเงินอุดหนุนค่าการศึกษาตลอดการศึกษา
ภาควิชา
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมี 7 ภาควิชาดังนี้

ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม
ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ
ภาควิชาอาหารและเภสัชเคมี
ภาควิชาชีวเคมีและจุลชีววิทยา
ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์
ภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา
ภาควิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ "The 8th NRCT-JSPS Joint Seminar" การวิจัย
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยทางเภสัชกรรม โดยมีผลงานการตีพิมพ์เชิงวิชาการเกี่ยวกับเภสัชกรรมและเภสัชวิทยาได้อันดับที่ 2 ของคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย และจัดสร้างอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งทำพิธีเปิดในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกรบวนการวิจัยทางยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องด้วยปัจจุบัน ยาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการนำเข้าสูง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงจัดตั้งอาคารนี้เพื่อเป็นอาคารวิจัยทางเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร เพื่อลดอัตราการนำเข้ายาจากต่างประเทศ

นอกจากนี้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนงานวิจัยของคณาจารย์เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ทางเภสัชกรรมและอุตสาหกรรมยา โดยจัดตั้งหน่วยงานวิจัยและศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางดังต่อไปนี้

หน่วยปฏิบัติการวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพร
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีฤทธิ์ชีวภาพจากทะเล
หน่วยปฏิบัติการวิจัยชีวการแพทย์วินิจฉัย
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม
หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์รูปแบบของแข็ง
หน่วยปฏิบัติการวิจัยการศึกษาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งยา
หน่วยปฏิบัติการวิจัยทางประสาทสรีรวิทยาและประสาทเภสัชวิทยา
หน่วยปฏิบัติการวิจัยศูนย์ปฏิบัติการเภสัชจลนศาสตร์
หน่วยปฏิบัติการวิจัยทางพฤกษเคมีของสมุนไพรที่เลือกสรรจากการใช้ในชุมชนท้องถิ่น
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชศาสตร์
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
หน่วยปฏิบัติการวิจัยได้รับสัมผัสจากสารพิษไอระเหย
หน่วยปฏิบัติการวิจัยประสาทเภสัชวิทยาของสารสกัดจากพืช
หน่วยปฏิบัติการวิจัยอาหารทางการแพทย์
หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบนำส่งยาและเครื่องสำอาง
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพยา
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ


อันดับของคณะ
จากผลการรายงาน 50 อันดับของคณะทางสาขาชีวการแพทย์ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยประเมินคุณภาพของการเรียนการสอนและงานวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อันดับที่ 23 และเป็นอันดับที่ 1 ในคณะเภสัชศาสตร์ทั้งหมด

ความร่วมมือระดับนานาชาติ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ-ชิบะ โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต คณะเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี เป็นต้น โครงการเชิญคณาจารย์และวิทยากรจากต่างประเทศ ร่วมบรรยายและสัมมนา

สถานที่ภายในคณะ
พื้นที่การศึกษาและวิจัย
ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ดังนี้
อาคารเภสัชศาสตร์ ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2525 เป็นอาคารรูปตัวเอช (H) จำนวน 4 ชั้น เป็นอาคารแรกของคณะฯ ในบริเวณสยามสแควร์ เป็นที่ตั้งของสำนักเลขานุการคณะฯ และสำนักงานภายในคณะฯ รวมถึงที่ตั้งของห้องพักอาจารย์ตามภาควิชา และห้องปฏิบัติการรายภาควิชา แต่เดิม อาคารนี้ได้รับการออกแบบเป็นรูปตัวอี (E) ซ้อนกัน แต่งบประมาณในขณะนั้นมีจำกัด จึงได้ดัดแปลงแปลนบางส่วน ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอในเวลาต่อมา
อาคาร 80 ปี เภสัชศาสตร์ เป็นอาคารสูง 8 ชั้น เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการทางเภสัชกรรมขนาดใหญ่ ห้องบรรยายรวม และหอประชุมตั้ว ลพานุกรม อาคารหลังนี้ได้รับงบประมาณการก่อสร้างจากสำนักงบประมาณแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามความประสงค์ของคณะฯ ซึ่งไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพื้นที่อาคารเดิมคับแคบ ต้องแบ่งนิสิตออกเป็นหลายกลุ่ม ไม่สะดวกต่อการทำการเรียนการสอน นอกจากนี้ อาคาร 80 ปี เภสัชศาสตร์ ได้นำครุภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอนอีกด้วย
อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ เป็นอาคารสูง 10 ชั้น เป็นที่ตั้งของหอประชุม และห้องปฏิบัติการทางเภสัชกรรมและเคมี รวมถึงสำนักงานภาควิชาต่างๆด้วย อาคารหลังนี้ได้เริ่มต้นการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2546 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549 และในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารหลังนี้
สวนพฤกษศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณริมรั้วคณะฯ ฝั่งสยามสแควร์ ภายในมีการปลูกพืชสมุนไพรสำหรับการวิจัยยา และคิดค้นตำรายาสมุนไพรใหม่ๆ
พื้นที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ
ประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง ดังนี้
อาคารโอสถศาลา เป็นร้านยามาตรฐานสำหรับให้นิสิตเภสัชศาสตร์ได้ฝึกจ่ายยาในร้านยาจริง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารหลังนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544
อาคารโอสถศาลาเดิม การบริการโอสถศาลาของคณะฯ ได้ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2529 เพื่อเป็นสถานฝึกงานแก่นิสิตภาควิชาเภสัชกรรมคลินิกถึงวิธีการบริการผู้ป่วยด้านยา ปัจจุบันอาคารดังกล่าวได้ปรับปรุงใช้เป็นห้องประชุมและสันทนาการของคณะฯ
พื้นที่นันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ
สนามบาสเกตบอล ตั้งอยู่บริเวณหลังอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ สำหรับให้นิสิตเภสัชศาสตร์ได้ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมอื่นๆ
ลาน Rx เป็นลานกว้างภายในอาคารเภสัชศาสตร์ ภายในมีการปลูกพืชสมุนไพรทั่วไป บริเวณกลางลานเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำพุ และสัญลักษณ์ Rx อันเป็นสัญลักษณ์ของวิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์สมุนไพร
เป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมสมุนไพรท้องถิ่นในประเทศไทยไว้ รวมทั้งวิวัฒนาการเภสัชกรรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ได้รวบรวมไว้ และได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จเข้าเยี่ยมชมเป็นพระองค์แรก พร้อมทั้งคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย[27]
การเดินทาง
นิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมารถเดินทางได้หลายเส้นทาง

รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม
รถประจำทาง สาย 11 16 21 25 27 29 34 36 36ก 47 50 54 65 79 93 141 204 501 508
รถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาย 1 และ 4
บุคคล
รายนามหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์และคณบดี
ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณบดีตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

หัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามหัวหน้าแผนกฯ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. เภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 - พ.ศ. 2487
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
2. เรือโทศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ดร.อวย เกตุสิงห์ พ.ศ. 2487 - พ.ศ. 2489
3. ศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.จำลอง สุวคนธ์ พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2500
4. ศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.ชลอ โสฬสจินดา พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2509
5. ศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.ไฉน สัมพันธารักษ์ พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2515
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
6. ศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.วิเชียร จีรวงศ์ พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2517
7. นาวาเอกศาสตราจารย์เภสัชกร พิสิทธิ์ สุทธิอารมณ์ พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2521
8. รองศาสตราจารย์เภสัชกรบุญอรรถ สายศร พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2532
9. ศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.ภาวิช ทองโรจน์ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2536
10. รองศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2545
11. รองศาสตราจารย์เภสัชกร ดร.บุญยงค์ ตันติสิระ พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2548
12. รองศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง ดร.พรเพ็ญ เปรมโยธิน พ.ศ. 2548 - 30 กันยายน พ.ศ. 2552
13. รองศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง ดร.พิณทิพย์ พงษ์เพ็ชร 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 - ปัจจุบัน

นิสิตเก่าที่มีชื่อเสียง
ภญ.กรกมล ชัยวัฒนเมธิน (ออน) นักร้องสังกัดวงละอองฟอง
ภญ.ณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล (โน๊ต) นักร้องและพิธีกร
ภก.ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ (บอย) นักแสดง
ท่านผู้หญิง ภญ.ปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกด้านเภสัชตำรับสากลและการเตรียมการทางเภสัชกรรม, อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
ศ.(พิเศษ) ภก.ภักดี โพธิศิริ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
รศ.ภก.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร
ภก.วิลาศ จันทร์พิทักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร
กิจกรรมและประเพณีของคณะ
กิจกรรมของทางคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานส่วนกลางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จัดขึ้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

งานรับน้องใหม่
วันแรกพบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU First Date เป็นวันแรกของนิสิตใหม่ที่ได้เข้าทำกิจกรรมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานนี้ได้จัดขึ้นเพื่อทดแทนงาน ณ สถานที่ประกาศผลเอนทรานซ์ในระบบเก่า งานนี้จัดขึ้นโดยองค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสโมสรนิสิตและคณะกรรมการคณะต่างๆ ทุกคณะ จัดขึ้น ณ บริเวณลานหลังพระบรมรูป 2 รัชกาล ช่วงหลังประกาศผลแอดมิสชันของทุกปี
สู่รั้วกระถินณรงค์ จะจัดขึ้นภายหลังการสอบสัมภาษณ์ของนิสิตใหม่ งานนี้เปรียบเสมือนงานแรกพบของคณะฯ เป็นกิจกรรมแรกที่จัดขึ้นภายในคณะฯ สำหรับนิสิตใหม่ งานนี้จัดขึ้น โดยสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี
แรกพบ สนภท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย) จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นงานที่นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศมาพบปะกัน เพื่อทำความรู้จัก และสานสัมพันธ์ร่วมกัน จัดขึ้นโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยจัดขึ้น ณ บริเวณคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงาน โดยเวียนไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปีการศึกษาล่าสุด งานนี้ได้จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
รับน้องคณะฯ จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของนิสิตใหม่ด้วยกันเอง และกับรุ่นพี่ภายในคณะฯ
กิจกรรมห้องเชียร์ จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม - ต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นกิจกรรมส่งเสริมความสามัคคีนิสิตใหม่ โดยฝึกการร้องเพลงประจำคณะฯ เพลงมหาวิทยาลัย โดยจัดขึ้นภายในบริเวณของคณะฯ
กิจกรรมกีฬา
กีฬาเฟรชชี่ เป็นงานสำหรับนิสิตใหม่ทุกคณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยองค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์นิสิตภายในมหาวิทยาลัย
กระถินณรงค์คัพ จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์นิสิตภายในคณะในแต่ละชั้นปี เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของนิสิตแต่ละชั้นปี และบุคลาการในคณะฯ
กีฬาเภสัชสัมพันธ์ จัดขึ้นโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในแต่ละมหาวิทยาลัย โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยเจ้าภาพหมุนเวียนสลับกันไปในแต่ละสถาบัน
กีฬาสีภายในคณะฯ เป็นกิจกรรมแข่งขันกีฬาพื้นบ้านของนิสิต บุคลากร ครู-อาจารย์ภายในคณะฯ จัดขึ้นโดยสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี
กีฬา 5 หมอ เป็นการแข่งขันกีฬาร่วมกันของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ณ ศูนย์กีฬาในร่มแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กิจกรรมวิชาการ
สัปดาห์เภสัชกรรม เป็นกิจกรรมเผยแพร่บทบาทของเภสัชกรในสังคมปัจจุบัน รวมทั้งให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับสุขอนามัยและยาแก่ประชาชนทั่วไป จัดขึ้น ณ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถศาลา ในช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี
จุฬาฯ วิชาการ เป็นกิจกรรมให้ความรู้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ถึงบทบาทและหน้าที่ของเภสัชกร และวิชาชีพเภสัชกรรม จัดขึ้นโดยองค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี
ค่ายอยากเป็นเภสัชกร เป็นกิจกรรมเผยแพร่ความรู้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยให้เข้าค่ายเป็นเวลา 2 วัน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ แขนงวิชา และการปฏิบัติการทางเภสัชกรรมจริง จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคมของทุกปี
กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
พิธีไหว้ครู เป็นกิจกรรมที่นิสิตเภสัชศาสตร์จัดขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของครู-อาจารย์ที่อบรมสั่งสอน ให้ความรู้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำบุญตักบาตร พิธีการมอบทุนการศึกษาแก่นิสิต การมอบประกาศนียบัตรนิสิตดีเด่น นิสิตที่ทำกิจกรรมดีเด่น นิสิตที่มีผลการเรียนดีเด่น โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี
งานลอยกระทงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นกิจกรรมที่มีชื่อเสียงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นบริเวณสนามฟุตบอลหน้าลานพระบรมรูป 2 รัชกาล โดยนิสิตทุกคณะร่วมกันจัดขบวนแห่นางนพมาศ และลอยกระทงร่วมกัน ณ บ่อน้ำหน้าพระบรมรูป 2 รัชกาล โดยจัดขึ้นในวันลอยกระทงของทุกปี
กิจกรรมสานสัมพันธ์ภายในคณะ
งานคืนถิ่นกระถินณรงค์ จัดขึ้นเพื่อแสดงความยินดีกับนิสิตที่จบการศึกษาเภสัชศาสตร์ โดยสโมสรนิสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี
งานแฟร์เวลล์ จัดขึ้นเพื่อแสดงความยินดีและอำลานิสิตชั้นปีที่ 5 ที่จะสำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ ในงานประกอบไปด้วยการแสดงของนิสิตชั้นปีที่ 1 - 4 และการเลี้ยงอาหารแก่รุ่นพี่
งานบายบายเฟรชชี่ จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม เป็นกิจกรรมส่งท้ายของนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่จะทำกิจกรรมร่วมกันในฐานะเป็นเฟรชชี่ จัดขึ้นโดยสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานส่งพี่ข้ามฟาก เป็นกิจกรรมที่นิสิตชั้นปีที่ 1 ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อขอบคุณรุ่นพี่ปี 2 ที่ดูแลมาโดยตลอดปีการศึกษา โดยถือเป็นประเพณีที่นิสิตชั้นปีที่ 2 จะไม่ได้ศึกษาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท หรือ จุฬาใหญ่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น