บทนำสู่เภสัชศาสตร์

บทนำสู่วิชาเภสัชศาสตร์ (Introduction to Pharmacy)

“ยา” เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ อันแสดงถึงความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีพ และสำคัญจนกระทั่งมีพระโพธิ ด้านการปรุงยาเลยทีเดียว นามว่า “พระไภษัชยคุรุประภาตถาคต” ทรงถือหม้อยาในพระหัตถ์ สะท้อนถึงความเก่าแก่ของวิชาเภสัชศาสตร์นับพันปี แต่องค์ความรู้ด้านเภสัชศาสตร์นั้น ไม่ได้หยุดนิ่ง หรือดูโบราณ หรือไม่ทันสมัย แต่กลับพัฒนาตามโลกและโรคตลอดเวลา นับเป็นศาสตร์หนึ่งที่มีคุณอนันต์ต่อมวลมนุษยชาติ และก็ได้พัฒนาไปพร้อมๆกับศาสตร์ในโลกนี้อีกหลายสาขา จวบจนปัจจุบัน เภสัชศาสตร์ นับว่าเป็นศาสตร์หนึ่งที่มีคุณอนันต์ต่อมวลมนุษยชาติ

คณะเภสัชศาสตร์ คงเป็นคณะที่น้องๆหลายคนใฝ่ฝันอยากเข้า หลายคนอาจคิดว่ารู้แล้ว ว่า เภสัชเรียนเกี่ยวกับอะไร แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า แท้จริงแล้ว เภสัชศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับอะไรกันแน่

นิยามของวิชาเภสัชศาสตร์ (Definition of Pharmacy)



คำว่า “เภสัชศาสตร์” ก็มาจากคำว่า “เภสัช” ซึ่งแปลว่า “ยา” และ “ศาสตร์” ซึ่งหมายถึง “ความรู้” ส่วนคำว่า “Pharmacy” มาจาก “Pharmakon” ซึ่งแปลว่า “ยา” ดังนั้น เภสัชศาสตร์ จึงหมายถึง ความรู้ในเรื่องยา หรือ การศึกษาเกี่ยวกับยา

ขอบเขตของวิชาเภสัชศาสตร์ (Scope of Pharmacy)

การศึกษาเกี่ยวกับยานั้น เราศึกษาตั้งแต่ แหล่งของยา โครงสร้างทางเคมีของยา การผลิตเป็นรูปแบบยาเตรียมต่างๆ การควบคุมคุณภาพและการประกันคุณภาพยาและเภสัชภัณฑ์ การวิจัยและการพัฒนายาและเภสัชภัณฑ์ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เภสัชจลนศาสตร์ เภสัชพลศาสตร์ การใช้ยาทางคลินิกในโรคของระบบต่างๆ อาการไม่พึงประสงค์ของยา การติดตามผลของยา การประเมินการใช้ยา ไปจนถึงการบริหารจัดการเรื่องยาและกฎหมายเกี่ยวกับยา

ดังนั้น เภสัชศาสตร์ จึงเป็นวิชาที่เป็นสหสาขาวิชา คือ บูรณาการหลายๆศาสตร์เข้าด้วยกัน แต่มุ่งไปยังเรื่องของ “ยา”


แต่ในปัจจุบัน ขอบเขตของเภสัชศาสตร์ครอบคลุมในเรื่องยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารพิษ สารเสพติดและสารออกฤทธิ์ต่างๆ กล่าวโดยสรุป เภสัชศาสตร์ ก็คือการศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีใดๆที่มีผลต่อร่างกายมนุษย์ (และ ) และการใช้สารเคมีเหล่านั้นกับร่างกายเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ (โดยเฉพาะ ในทางการแพทย์)

สาขาของวิชาเภสัชศาสตร์ (Fields of Pharmacy)


1. กลุ่มวิชาบริบาลเภสัชกรรม (Pharmaceutical Care) :

1.1 สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิกและเภสัชกรรมโรงพยาบาล (Clinical Pharmacy and Hospital Pharmacy)



เภสัชกรรมคลินิก เป็นการศึกษาเกี่ยวกับโรคต่างๆและการรักษา ตั้งแต่พยาธิกำเนิด พยาธิสภาพ อาการและอาการแสดง การดำเนินของโรค ระบาดวิทยา ปัจจัยก่อโรค ปัจจัยส่งเสริม การวินิจฉัยและการรักษา ทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา

เภสัชกรคลินิกจะดูแลการใช้ยาในผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การออกแบบการบริหารยา (ชนิดตัวยา รูปแบบยา ขนาดยา ทางของการให้ยา) การประเมินการใช้ยา การค้นหาปัญหาที่เกี่ยวกับยา เช่น จ่ายยาเกินความจำเป็น ขนาดยาต่ำเกิน ขนาดยาสูงเกิน เป็นต้น การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อันตรกิริยาของยา ผลข้างเคียงของยา การแพ้ยา และการปรับขนาดยาในผู้ป่วยในสภาวะต่างๆ เช่น ผู้ป่วยโรคตับหรือไต เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางด้านเภสัชจลนศาสตร์ คือ การดูดซึมยา การกระจายยา การแปรสภาพยา และการขับยา รวมทั้งความรู้ทางเภสัชพลศาสตร์ คือ กลไกการออกฤทธิ์ของยา


ในปัจจุบัน มีหลายมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตร 6 ปี เรียกว่า “Doctor of Pharmacy” หรือ “ห-ม-อ-ย-า” นั่นเอง โดยจะมีการราวด์วอร์ดร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ โดยเภสัชกรเป็นหนึ่งในทีมสหสาขาวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Care Team) ดูแลผู้ป่วยในเรื่องยาอย่างใกล้ชิด

ส่วนเภสัชกรรมโรงพยาบาล เป็นการพูดรวมไปถึงระบบการกระจายยาในโรงพยาบาล ซึ่งก็คืองานการจ่ายยาแก่ผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก รวมทั้งงานการบริหารคลังเวชภัณฑ์ด้วย


1.2 สาขาวิชาเภสัชกรรมชุมชม (Community Pharmacy)


เภสัชกรรมชุมชน ก็คือ ร้านยา นั่นเอง เภสัชกรชุมชน นอกจากจำหน่ายยาแล้ว ยังต้องทำการซักประวัติ การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น การเลือกใช้ยาและขนาดที่เหมาะสม แนะนำวิธีการใช้ยา นอกจากนี้ ยังมีการให้คำปรึกษาเรื่องยาและสุขภาพ รวมทั้งต้องมีความรู้ทางด้านการบริหารจัดการร้านยาในเชิงธุรกิจอีกด้วย



1.3 สาขาวิชาเภสัชสาธารณสุข (Pharmacy Public Health)



เภสัชสาธารณสุข เป็นการประยุกต์ความรู้ทางสาธารณสุขศาสตร์มาใช้ในงานทางเภสัชกรรม เช่น ระบบยา นโยบายแห่งชาติด้านยา พฤติกรรมสุขภาพ งานสาธารณสุขชุมชน การบูรณาการองค์ความรู้ทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ มาใช้ในงานเภสัชสาธารณสุข เช่น พฤติกรรมการใช้ยาของกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างเรื่องเพศ อายุ เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ-สังคม การใช้ยาในทางที่ผิดของวัยรุ่น เช่น การใช้ยาแก้ไอที่มีโคเดอีนมาเสพเป็นยาเสพติด เป็นต้น รวมทั้งการใช้ความรู้ทางเภสัชระบาดวิทยาและเภสัชเศรษฐศาสตร์มาช่วยในการศึกษาและจัดการปัญหาทางสาธารณสุขที่เกี่ยวกับยาและการใช้ยาของประชาชนด้วย



เภสัชกรสาธารณสุขในหน่วยงานทางสาธารณสุข เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกระทรวงสาธารณสุข ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข การขึ้นทะเบียนยาและสถานประกอบการ ควบคุมการจำหน่ายยา และควบคุมดูแลการทำงานของเภสัชกร


2. กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม (Pharmaceutical Science) :



2.1 สาขาวิชาเภสัชเวท (Pharmacognosy)
เภสัชเวท เป็นการศึกษาตัวยาและสารช่วยทางเภสัชกรรมจากแหล่งธรรมชาติ ทั้งพืช จุลินทรีย์ และแร่ธาตุ แหล่ง เช่น น้ำผึ้ง นมผึ้ง เกสรผึ้ง น้ำมันตับปลา หมู วัว แหล่งจุลินทรีย์ เช่น ยีสต์ แบคทีเรีย แหล่งแร่ธาตุ เช่น Aluminium, Magnesium, Clay, Bentonite รวมทั้งพวกสาหร่าย เห็ด รา ด้วย เปลือกสนสกัด สารสกัดเมล็ดองุ่น สารสกัดจากปลาทะเลน้ำลึก อะไรทำนองนี้ รวมทั้ง การใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการผลิตตัวยาด้วย เช่น การหมักจุลินทรีย์ การเพาะเลี้ยงเซลล์พืชและเซลล์ พันธุวิศวกรรม เป็นต้น



2.2 สาขาวิชาเภสัชเคมี (Pharmaceutical Chemistry)

เภสัชเคมี ก็คือ เคมีของยา ยาก็คือ สารเคมี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ จึงมีโครงสร้างเป็นวงเป็นเหลี่ยมเป็นกิ่งก้านสาขา บางชนิดมีโครงสร้างง่ายๆ แต่บางชนิดก็มีโครงสร้างซับซ้อน อย่างที่น้องหลายคนคงเคยเห็น การตัดหมู่ฟังก์ชันบางตำแหน่งออก การเพิ่มหรือเปลี่ยนหมู่ฟังก์ชัน จะมีผลต่อเภสัชพลศาสตร์และเภสัชจลนศาสตร์ของยา รวมทั้งคุณสมบัติทางเคมีกายภาพของยาด้วย ซึ่งจะมีผลต่อการตั้งสูตรตำรับ โดยเราสามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เหล่านี้ในการวิจัยและการพัฒนายาโดยการปรับปรุงโครงสร้างของยา และการออกแบบยาเพื่อให้มีโครงสร้างที่เหมาะสมต่อการออกฤทธิ์ที่จำเพาะมากขึ้น

2.3 สาขาวิชาเภสัชวิเคราะห์ (Pharmaceutical Analysis)


เภสัชวิเคราะห์ ก็คือ วิชาการวิเคราะห์ยา น่ะแหละ เป็นการหาปริมาณยาและสารปนเปื้อน โดยใช้วิธีการทางเคมีต่างๆ เช่น การวิเคราะห์เชิงน้ำหนัก การวิเคราะห์เชิงปริมาตรหรือการไทเทรต (กรด-เบส, สารเชิงซ้อน, รีด็อกซ์ ) การวิเคราะห์เชิงไฟฟ้า (Potentiometry, Voltametry, Polarography) การวิเคราะห์เชิงแสง (Polarimetry, Turbidimetry, Nephelometry) สเป็คโทรโฟโทเมตริ (UV, IR, NMR, MS) โครมาโทกราฟี่ (HPLC, GC, TLC) โอย.... สารพัด ทำงานในฝ่ายควบคุมคุณภาพในโรงงานยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอาจได้เป็นพยานในศาลด้วย เพราะฉะนั้น วิเคราะห์ให้ดีล่ะ ไม่งั้นฝ่ายตรงข้ามจะหาจุดผิดพลาดของเราพลิกคดีได้



2.4 สาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม (Pharmaceutical Technology)


เทคโนโลยีเภสัชกรรม ก็คือวิชาการผลิตยานั่นเอง ถ้าเราลองสังเกตยาแต่ละชนิด จะเห็นความแตกต่างในหลายรูปแบบ แต่พี่เชื่อเลยว่า น้องคงเคยเห็นไม่กี่แบบ หรือนึกได้ ไม่กี่ชนิด แต่ความจริงแล้ว ยามีหลายรูปแบบมาก เช่น ยารูปแบบของแข็ง (ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาผง ยาแกรนูล ยาเหน็บ) ยารูปแบบของเหลว ( อโรมาติกวอเตอร์ สปิริต อิลิกเซอร์ ยาน้ำเชื่อม ยาน้ำอิมัลชัน ยาน้ำแขวนตะกอน) ยารูปแบบกึ่งแข็ง (ยาขี้ผึ้ง ครีม เพสต์ เจล) ยารูปแบบไร้เชื้อ (ยาฉีด ยาฝัง ยาตา ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น ฮอร์โมน วัคซีน เซรุ่ม สารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือด) ยารูปแบบพิเศษ (ยากัมมันตรังสี ยาแอโรโซล ยาแผ่นแปะ ระบบการนำส่งยาแบบต่างๆ) ซึ่งในการผลิตยา ต้องใช้ความรู้หลายสาขา ทั้งชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และเครื่องจักรกล มาใช้ในกระบวนการออกแบบยา การประดิษฐ์ยา การพัฒนานวัตกรรมทางยา และกระบวนการผลิตยา

3. กลุ่มวิชาเภสัชกรรมสังคม (Social Pharmacy) :



3.1 สาขาวิชาการบริหารเภสัชกิจ (Pharmacy Administration)



การบริหารเภสัชกิจ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการบริหาร การจัดการ พฤติกรรมองค์กร การตลาด และการประยุกต์มาใช้ในงานทางเภสัชกรรม ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ร้านยา บริษัทยา โรงงานยา ศูนย์วิจัย ห้องปฏิบัติการ หรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จริงๆแล้ว เภสัชกรทุกสาขาก็ต้องใช้ความรู้นี้ แต่ตรงตัวเลยก็คือ เภสัชกรการตลาดในบริษัทยาต่างๆ



3.2 สาขาวิชานิติเภสัชศาสตร์ (Forensic Pharmacy)



นิติเภสัชศาสตร์ เป็นการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานทางเภสัชกรรมและเภสัชกรทุกสาขา เช่น กฎหมายวิชาชีพเภสัชกรรม กฎหมายยา กฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท กฎหมายยาเสพติด กฎหมายเครื่องสำอาง เป็นต้น และในกระบวนวิชานี้ ยังกล่าวถึงจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งเป็นการศึกษาจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทุกสาขา




4. กลุ่มวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา (Pharmacology and Toxicology) :



4.1 เภสัชวิทยา (Pharmacology)


เภสัชวิทยา เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างยากับร่างกายทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และเชิงคลินิก โดยมีการศึกษาใน 2 ลักษณะ คือ เภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ เภสัชจลนศาสตร์เป็นการศึกษาว่าร่างกายทำอะไรกับยา ได้แก่ การดูดซึมยา การกระจายยา การแปรสภาพยา และการขับยา ส่วนเภสัชพลศาสตร์ เป็นการศึกษาว่ายาทำอะไรกับร่างกาย ซึ่งก็คือกลไกการออกฤทธิ์ของยานั่นเอง เช่น การออกฤทธิ์ผ่านทางรีเซปเตอร์, การยับยั้งเอ็นไซม์ เป็นต้น
4.2 พิษวิทยา (Toxicology)



พิษวิทยา เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสารพิษชนิดต่างๆ ทั้งสารพิษในธรรมชาติและสารเคมีสังเคราะห์ ยาในขนาดที่เป็นพิษ ลักษณะความเป็นพิษต่อร่างกายในระบบต่างๆ กลไกการเกิดพิษ อาการพิษและการรักษา รวมทั้งศึกษาการใช้ ทดลองในการทดลองทางพิษวิทยาด้วย


4.3 ชีวเภสัชศาสตร์ (Biopharmaceutics)
ชีวเภสัชศาสตร์ เป็นการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ยากับร่างกาย โดยศึกษาผ่านทางชีวประสิทธิผลและชีวสมมูล ชีวประสิทธิผล คือ การศึกษาการดูดซึมของตัวยาเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตเทียบกับปริมาณยาที่ให้ไป ส่วนชีวสมมูล คือการศึกษาเปรียบเทียบการละลายออกของตัวยาจากผลิตภัณฑ์ยาตัวอย่างเทียบกับผลิตภัณฑ์ยาต้นแบบ ซึ่งตัวยาเดียวกันก็อาจมีการละลายตัวยาออกจากผลิตภัณฑ์ในอัตราต่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตั้งสูตรตำรับและกระบวนการผลิต




บทสรุป



น้องจะเห็นว่า การเรียนเภสัชนั้น เป็นการบูรณาการหลายศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อการศึกษาเรื่องของ “ยา” เราจึงไม่ได้รู้อย่างเป็ดเหมือนที่บางคนพูด แต่เราคือผู้เชี่ยวชาญเรื่องยาครับ อย่างคนที่เรียนเน้นมาทางด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรม เค้าก็ต้องเชี่ยวชาญด้านการผลิตยา ใช่มั๊ยครับ ? หรือคนที่เรียนเน้นทางด้านเภสัชวิเคราะห์ เค้าก็เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ยา ใช่มั๊ยครับ ? หรือเภสัชกรในโรงพยาบาลเค้าก็เชี่ยวชาญเรื่องการใช้ยาในทางคลินิก ใช่มั๊ยครับ ?

“แล้วอย่างนี้ เภสัชกรจะรู้อย่างเป็ดได้อย่างไร” ในเมื่อเภสัชกรคือผู้เชี่ยวชาญเรื่องยาในด้านต่างๆตามที่กล่าวมาอ่ะครับ ซึ่งพี่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคนที่พูดแบบนี้ เค้าคิดยังไง หรือเค้ามองมุมไหน ถึงได้เข้าใจผิดซะขนาดนี้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น